วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์การดำเนินการ

จากการสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณจากรัฐในการดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงที่ผ่านมาทั้งโครงการนำร่องในปี 2546 และการดำเนินงานแก้ปัญหาในเมืองต่าง ๆ ในปี 2547 ได้วางแนวทางสู่การแก้ปัญหาที่กว้างขวาง โดยแต่ละพื้นที่จะมีระบบและรูปแบบที่หลากหลายสอดคล้องกับสภาพและวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งสามารถสรุปเป็นยุทธศาสตร์สำคัญได้ ดังนี้

1) การสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรัฐด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็น รวมทั้งการอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของครัวเรือน เพื่อลดภาระคนจนในการจ่ายคืนสินเชื่อที่อยู่อาศัย

2) ให้ชุมชนและเครือข่ายเป็น “เจ้าของโครงการ” ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ภาคีที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศูนย์ต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับจังหวัด (ศตจ.จว.) ใช้กระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคม ความมั่นใจ ความสามารถในการจัดการของคนจนเอง

3) ปรับการทำงานที่ “หน่วยงาน” เป็นหลัก เป็นการดำเนินงานโดยชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก และดำเนินโครงการตามปัญหาจริงที่มีอยู่ [Demand Driven แทน Supply Driven] โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ รูปแบบแนวทางและกระบวนการเรียนรู้และถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นและชุมชนร่วมกันดำเนินงานในระยะต่อไป

4) เตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสร้างความเข้มแข็งของคนจนตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542

5) เชื่อมโยงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาชุมชนแออัดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชุมชนและเมืองน่าอยู่ของแผนงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนยุทธศาสตร์จังหวัด และแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัด